ซิฟิลิส (Syphilis)โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum สามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย การจูบ รวมถึงการทำออรัลเซ็กซ์ ซิฟิลิสหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาจนถึงอาการระยะสุดท้าย อาจอันตรายถึงชีวิต
ซิฟิลิส (Syphilis) สามารถแบ่งระยะอาการออกได้ เป็น 4 ระยะ
Table of Contents
- ระยะที่ 1
ในระยะแรกนี้นับเป็นระยะที่ซิฟิลิสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายมากที่สุด เพราะไม่ได้มีอาการปวดที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่ามีอะไรผิดปกติ แต่จะมีอาการที่สังเกตได้คือ “แผลริมแข็ง” เป็นแผลเล็กๆ สีแดง ขอบนูนลักษณะแข็งๆ ซึ่งอาจเป็นแค่แผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ขึ้นของแผลนั้นมักอยู่ในที่ลับที่มักไม่ค่อยถูกสังเกตเห็นได้ง่าย อย่างช่องคลอด ทวารหนัก องคชาต หรือในปาก ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้รับเชื้อซิฟิลิสแล้ว และกลายเป็นพาหะ แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ - ระยะที่ 2
หลังจากเกิดแผลริมแข็งในระยะแรกผ่านไปสักประมาณ 1 เดือนหรือเร็วกว่านั้น ซิฟิลิสจะดำเนินโรคเข้าสู่ในระยะที่ 2 โดยแสดงอาการผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้าให้เห็น แต่ผื่นดังกล่าวจะไม่มีอาการคันร่วมด้วย และมีลักษณะเป็นผื่นจางๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้สนใจ หรือเห็นแล้วก็อาจไม่ได้ตื่นตระหนกมากนัก ถึงแม้บางคนอาจมีไข้ และอาการปวดเมื่อยอ่อนเพลียร่วมด้วย แต่เนื่องจากอาการที่แสดงออกมาไม่ได้มีความรุนแรง และเมื่อปล่อยไปสักพักก็หายเองได้ จึงทำให้ผู้ป่วยก็อาจมองข้ามไปอีกว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ และไม่ไปตรวจเพื่อวินิจฉัยรักษา ซึ่งการหายไปเองของอาการระยะที่ 2 นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราหายจากโรคแต่อย่างใด เพราะเชื้อซิฟิลิสยังคงดำเนินโรคต่อไป และยังคงแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ - ระยะที่ 3
นี่ถือเป็นความน่ากลัวที่สุดสำหรับซิฟิลิส เพราะจากระยะที่ 2 ผ่านไป ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อและไม่เข้ารับการรักษา อาการต่างๆ ของโรคจะหายไป ราวกับว่าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงเชื้อซิฟิลิสนั้นยังคงแฝงตัวและดำเนินโรคต่อไปอยู่ในร่างกายเรา ซึ่งอาจอยู่ได้นานเป็นปีแบบไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย นั่นจึงทำให้เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อที่ลุกลามเป็นวงกว้างได้ ในขณะเดียวกัน หากพ้นจากระยะแฝงไปแล้วกว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง โรคก็ดำเนินไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งมีอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ - ระยะที่ 4
ระยะเวลากว่าจะมาถึงระยะสุดท้ายของโรคซิฟิลิสนั้น บางรายอาจนานถึง 10-20 ปีเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อถึงช่วงนี้เมื่อไร นั่นหมายความว่าเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว และจะทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายถูกทำลายไปทีละส่วน ไม่ว่าจะเป็น สมอง หัวใจ กระดูก ตา เส้นเลือด ส่งผลทำให้ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสมีอาการทางสมอง เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เหมือนปกติ ความสามารถในการมองเห็นลดลง และสุดท้ายคือเสียชีวิตในที่สุด


ซิฟิลิส ติดต่อได้อย่างไร ?
ซิฟิลิส ติดต่อผ่านทางการมี “เพศสัมพันธ์” เป็นหลัก ไม่ว่าจะทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปากกับผู้ป่วยซิฟิลิส โดยจะแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านการสัมผัสแผลที่เกิดจากโรคโดยตรง นอกจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังสามารถติดต่อผ่านการจูบได้ด้วย คือ ถ้าจูบหรือสัมผัสโดนแผล ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด ก็สามารถติดเชื้อได้หมด และข้อควรระวังสุดท้ายที่ควรทราบไว้ คือ เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ทำให้เด็กที่เกิดออกมาเป็นโรคซิฟิลิสตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ใครบ้าง ? ที่ควรตรวจซิฟิลิส
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่คิดว่าคู่นอนของตัวเองมีความเสี่ยงต่อซิฟิลิส
- ผู้ที่ไม่ใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่กำลังวางแผนจะมีบุตร
- กลุ่มคนทั่วไปที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์
ตรวจซิฟิลิส หลังมีความเสี่ยงกี่วัน ?
ปกติร่างกายคนเราจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ประมาณ 7-10 วัน หลังจากได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่ได้รับ และจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการตรวจซิฟิลิส ด้วยการหาภูมิคุ้มกัน จะนิยมตรวจหลังเสี่ยง 21-30 วัน และแพทย์แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหลัง 90 วันเพื่อความมั่นใจ


ซิฟิลิส ป้องกันได้อย่างไร ?
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- งดมีเพศสัมพันธ์ เมื่อคิดว่าคู่นอนของตัวเองมีความเสี่ยง
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- สังเกตอาการ ตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง
- ตรวจคัดกรองซิฟิลิสเป็นประจำ
ซิฟิลิส รักษาได้อย่างไร ?
ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรับประทาน ยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลลิน เป็นเวลา 1 – 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาขึ้นกับระยะของโรคที่เป็นด้วย หากปล่อยให้โรคดำเนินลุกลามไปจนถึงระยะสุดท้ายแล้ว โอกาสในการรักษาก็จะยิ่งยากขึ้น เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ดังนั้นหากเราเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นซิฟิลิส หรือ เป็นกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ก็ควรหมั่นสังเกตอาการ หรือเข้ารับการตรวจหาซิฟิลิสโดยตรง
ขอบคุณข้อมูล : phyathai ,hdmall