ฝีดาษลิง ติดต่อยังไง ?

ฝีดาษลิง ติดต่อยังไง ?
ฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง (Monkeypox) โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

การตรวจวินิจฉัยฝีดาษลิง

การตรวจวินิจฉัย ฝีดาษลิง (Monkeypox) ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้ายังไม่มีผื่นอาจจะทำการวินิจฉัยได้ยาก จำเป็นต้องแยกจากโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ มีผื่นขึ้นแล้ว จำเป็นต้องแยกจากโรคอื่นๆที่พบได้บ่อยกว่า เช่น เริม และโรคที่ทำให้เกิดผื่นอื่นๆ เนื่องจากโรคฝีดาษลิงนั้นพบได้น้อย  แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจโดยการส่องดูชิ้นเนื้อผ่านกล้องจุลทรรศน์และตรวจหาไวรัสโดยวิธี real time PCR และตรวจแอนติบอดีในเลือดซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการเฉพาะ

อาการของฝีดาษลิง

หลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน​ อาการป่วยคือ

  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • ปวดหัว
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • อ่อนเพลีย

จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

การติดต่อของฝีดาษลิง

ฝีดาษลิงติดต่อยังไง ? ฝีดาษลิงติดต่อจากสัตว์สูมนุษย์และจากมนุษย์สู่มนุษย์

  • จากสัตว์สู่มนุษย์ ติดต่อได้จากการ สัมผัสทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค หรือสัตว์ที่ติดเชื้อกัด
  • จากมนุษย์สู่มนุษย์ ทางหลักติดต่อผ่าน ละอองฝอยทางการหายใจขนาดใหญ่ จากการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะประชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การสัมผัสเลือด หรือรอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยมาก

การป้องกันฝีดาษลิง

  • หมั่นล้างมือ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลือง ตุ่มหนอง จากผู้มีประวัติเสี่ยง
  • ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงมีการแพร่ระบาด
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

การรักษาฝีดาษลิง

ในปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้นมีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

ขอบคุณข้อมูล : medparkhospital ,tlclab ,thonburi2hospital

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม