ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ

ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดซี ประกอบด้วย 6 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1 ถึง 6 โดยการแบ่งสายพันธุ์ไม่เกี่ยวกับความรุนแรง แต่เกี่ยวกับการรักษา ซึ่งสายพันธุ์ 2 และ 3 เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อย ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เนื่องจากมักไม่แสดงอาการ จึงไม่ได้สนใจ จนโรคดำเนินไปจนเข้าสู่สภาวะที่เป็นอันตรายต่อตับ รวมถึงภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับในที่สุด ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาความเสี่ยง ไวรัสตับอักเสบซีเป็นประจำ จึงเป็นผลดีอย่างปฏิเสธไม่ได้

ไวรัสตับอักเสบซีมีอาการอย่างไร ?

โรคไวรัสตับอักเสบโดยส่วนมากจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง บวม มีน้ำในช่องท้อง ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ตับม้ามโต

ไวรัสตับอักเสบซีติดต่อกันได้อย่างไร

ไวรัสตับอักเสบซีติดต่อกันได้อย่างไร ?

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ใช้เข็มในการสัก หรือเจาะร่างกาย ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
  • จากแม่สู่ลูก อาจเกิดขึ้นในระยะตั้งครรภ์หรือระหว่างคลอด

ไวรัสตับอักเสบซีไม่ติดต่อกันผ่านช่องทางเหล่านี้

  • การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
  • การไอ จาม และการจูบกอด
  • การว่ายน้ำในสระเดียวกัน
  • การใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน
  • ยุง หรือแมลงสัตว์กัดต่อย

การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบซี

เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้อต้น พร้อมกับการตรวจเลือดดูการทำงานของตับ หากผิดปกติและเป็นไวรัสตับอักเสบซี จะนำส่วนที่เป็นน้ำเหลืองไปตรวจหาภูมิต่อต้านไวรัสตับอักเสบซี หรือที่เรียกว่า Anti-HCV ในรายที่ผลเป็นบวกควรยืนยันด้วยการการตรวจไวรัสตับอักเสบซีโดยตรงโดยตรวจดูปริมาณไวรัสและสายพันธุ์ไวรัส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษา จากนั้นแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจทำอัลตราซาวด์ตับด้วยเครื่อง Fibroscan ว่ามีพังผืดในตับ ไขมันพอกตับ และภาวะตับแข็งร่วมด้วยหรือไม่

การป้องกันไวรัสตับอักเสบซี

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด
  • ไม่ใช้มีดโกนหนวดหรือแปรงสีฟันร่วมกัน
  • ระมัดระวังในการเจาะหูหรือสักตามร่างกาย ควรเลือกร้านที่ไว้ใจได้ มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกหลักอนามัย โดยเฉพาะเข็มที่ใช้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
ไวรัสตับอักเสบซี รักษาอย่างไร

ไวรัสตับอักเสบซี รักษาอย่างไร ?

ไวรัสตับอักเสบซี มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีชนิดรับประทานในปัจจุบันสามารถครอบคลุมการรักษาไวรัสได้ทั้ง 6 สายพันธุ์ โดยมีอัตราการหายขาดสูงมากกว่า 90% หากไม่มีโรคตับแข็งมาก่อน ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ก่อนกินยารักษาเสมอ  เพื่อแพทย์จะได้ช่วยประเมินยาโรคประจำตัวที่รับประทานต่อเนื่องมาก่อนและเฝ้าระวังผลข้างเคียงของการรักษา ระยะเวลาในการรับประทานยาอยู่ระหว่าง 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส เพื่อให้ผลการรักษามีความสำเร็จผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นไวรัสตับอักเสบซี

  • พักผ่อนให้พอเพียง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ไม่ควรหักโหม
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ก่อนทานยาทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์
  • พบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นระยะๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • เมื่อมีการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งแพทย์ทราบเสมอ
  • งดการบริจาคโลหิต
  • หลีกเลี่ยงการใช้แปรงสีฟันและของมีคมร่วมกับผู้อื่น

ขอบคุณข้อมูล : medparkhospital

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

“ไวรัสตับอักเสบซี” สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที เพื่อลดการอักเสบของตับ และลดความเสี่ยงในการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ