โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes)

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคเริม เป็นโรคผิวหนังเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Herpes simplex virus หรือเราจะเรียกสั้นๆ ว่า HSV  ซึ่งเชื้อไว้รัสก่อให้เกิดตุ่มน้ำบนผิวหนังได้คล้ายๆกัน พบได้บ่อยๆ มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ

1. เชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1 = HSV I) ชนิดนี้มักพบว่า ทำให้เกิดโรคเริมที่ริมฝีปาก และรอบๆ ปาก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

2. เชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 (Herpes simplex virus type 2 = HSV II) ชนิดนี้มักพบว่า จะทำให้เกิดโรคเริมที่บริเวณอวัยวะเพศ ก้น ในร่มผ้า พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

โรคเริมที่อวัยวะเพศคืออะไร

โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes) คือ การติดเชื้อไวรัส เฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) บริเวณอวัยวะเพศ ส่งผลให้มีอาการเจ็บ คัน เกิดบาดแผลหรือตุ่มพองบริเวณอวัยวะเพศ และอาจมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะร่วมด้วย 

โรคเริมที่อวัยวะเพศจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โดยเพศหญิงจะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเพศชาย ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางรายอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วย หรือในช่วงที่มีประจำเดือน 

โรคเริมที่อวัยวะเพศอาการเป็นอย่างไร

ผู้ติดเชื้อโรคเริมที่อวัยวะเพศ จะเกิดตุ่มพองขนาดเล็กที่อาจจะแตกออกเป็นแผลเปิดและก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่แผลจะตกสะเก็ดและหายไปภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ ในเพศชายจะปรากฏอาการของโรคบริเวณอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ หรือบริเวณสะโพกใกล้กับทวารหนัก ส่วนในเพศหญิงจะปรากฏอาการของโรคบริเวณช่องคลอด ทวารหนัก และสะโพก 

นอกจากนี้ เริมที่อวัยวะเพศอาจส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ดังนี้ 

  • เกิดรอยแตกหรือรอยแดงบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือคัน
  • คันหรือชาบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศหรือทวารหนัก
  • มีแผลเริม และตุ่มน้ำอาจจะแตก และมีน้ำไหลออกมา
  • เจ็บขณะปัสสาวะโดยเฉพาะในเพศหญิง เนื่องจากมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
  • อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดตัว ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองบวม และอ่อนเพลีย เป็นต้น 
  • อาจมีอาการปวดหัว ปวดเนื้อปวดตัว และมีไข้ 
  • อาจมีสะเก็ดบนแผลเกิดขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดการปะทุ

การวินิจฉัยโรคเริมที่อวัยวะเพศ 

แพทย์จะวินิจฉัยโรคเริมที่อวัยวะเพศ ด้วยการตรวจร่างกายบริเวณที่ติดเชื้อโรคเริม แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ดังนี้

  • การทดสอบ Polymerase Chain Reaction หรือ PCR Test เป็นการคัดลอกดีเอ็นเอ (DNA) ของผู้ป่วยจากตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อบริเวณที่มีบาดแผล ทางเดินปัสสาวะ หรือน้ำไขสันหลัง ทำให้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัส HSV และระบุชนิดของไวรัสได้อย่างชัดเจน แพทย์จึงมักใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยโรคเริมที่อวัยวะเพศ เนื่องจากมีความแม่นยำสูง
  • การเพาะเชื้อ แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือขูดบาดแผลเพื่อนำตรวจหาเชื้อไวรัส HSV อย่างละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องทดลอง
  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HSV และภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสในร่างกายผ่านทางการตรวจเลือดของผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเริมที่อวัยวะเพศ 

  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น โดยเชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ
  • ในบางกรณีเริมที่อวัยวะเพศอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณท่อปัสสาวะ ซึ่งอาการบวมที่เกิดขึ้นอาจขัดขวางช่องทางปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ท่อสวนเพื่อระบายปัสสาวะ
  • การอักเสบบริเวณทวารหนัก เนื่องจากผู้ป่วยอาจติดเชื้อเริมที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มักพบในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื่องจากเชื้อไวรัสอาจก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุผิวและน้ำไขสันหลัง ซึ่งอยู่ล้อมรอบสมองและไขสันหลัง
  • อาจเกิดบาดแผลบริเวณอื่นในช่วงเวลาที่มีการติดเชื้อ เช่น สะโพก ขาหนีบ ต้นขา นิ้ว หรือตา เป็นต้น
  • หากเกิดการติดเชื้อในเด็กแรกเกิดในระหว่างการคลอดอาจส่งผลให้สมองของทารกถูกทำลาย ตาบอด หรืออาจเสียชีวิต

การป้องกันโรคเริมที่อวัยวะเพศ 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันโรคเริม แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและการแพร่เชื้อไวรัสต้นเหตุของเริมที่อวัยวะเพศได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น 

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ห
  • ลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อและผู้ที่กำลังมีอาการปรากฏอยู่บริเวณอวัยวะเพศ รวมไปถึงผู้ติดเชื้อควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เช่นกัน เนื่องจากอาจส่งต่อเชื้อสู่ผู้อื่น

การรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ

ปัจจุบันการรักษาโรคเริมยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมและบรรเทาอาการได้โดยการใช้ยาต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นในผู้ที่เพิ่งมีอาการ บรรเทาความรุนแรง ลดระยะเวลา และความถี่ของการกลับมาเกิดซ้ำ อีกทั้งลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่น ซึ่งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาตั้งแต่ที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการ 

และผู้ติดเชื้อโรคเริมที่อวัยวะเพศ สามารถดูแลตนเองได้ เช่น การใช้ยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการ ใช้สบู่อ่อน ๆ อาบน้ำอุ่น รักษาความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อและทำให้แห้งอยู่เสมอ สวมชั้นในผ้าฝ้ายเพื่อไม้ให้เกิดความอับชื้นบริเวณที่ติดเชื้อ

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่

Exit mobile version