แผลริมอ่อน (Chancroid) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Haemophilus ducreyi หากเป็นแล้วมักเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นแผลเปื่อยซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า “แผลริมอ่อน” เกิดขึ้นบริเวณรอบๆหรือบนอวัยวะเพศ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
สาเหตุของแผลริมอ่อน
สาเหตุของแผลริมอ่อน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผล หรือมือที่มีเชื้อไปสัมผัสโดนดวงตา รวมถึงการสัมผัสถูกเชื้อในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งการร่วมเพศทางปาก ทางทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงโดยปกติ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ในช่วง 5-7 วัน จึงเริ่มพัฒนาอาการให้เห็นชัดตามมา


อาการของแผลริมอ่อน
หลังจากได้รับเชื้อ 5-7 วัน จะมีแผลเปื่อยเล็กลักษณะเป็นตุ่ม ขอบแผลนูนชัดเจน ก้นแผลมีหนอง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ โดยแผลริมอ่อนจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นหนอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผลขณะปัสสาวะ อุจจาระ หรือในขณะมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต ซึ่งอาการของแผลริมอ่อนในเพศชายและเพศหญิงมีอาการแตกต่างกัน
แผลริมอ่อนในเพศชาย
ในเพศชาย จะมีตุ่มแดงขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต หรือ ถุงอัณฑะ โดยที่แผลอาจลุกลามเป็นแผลเปื่อยได้ภายใน 1-2 วัน ซึ่งผู้ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บหรือแสบร้อนบริเวณที่เกิดแผล
แผลริมอ่อนในเพศหญิง
ในเพศหญิง จะมีตุ่มแดงบริเวณอวัยวะเพศมากกว่าเพศชาย มักพบแผลในแคมเล็ก อวัยวะเพศ ต้นขา ขาหนีบ ปากช่องคลอด ซึ่งลักษณะของอาการแผลริมอ่อนในเพศหญิงมีความคล้ายคลึงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น หรือบางรายอาจไม่แสดงอาการของโรคชัดเจน สังเกตอาการได้ยาก และอาจแพร่เชื้อสู่คู่นอนโดยไม่รู้ตัว
การวินิจฉัยแผลริมอ่อน
แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายทั่วไป ซึ่งจะต้องตรวจดูแผลที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศอย่างละเอียด ตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ และส่งตัวอย่างหนองหรือน้ำจากแผลไปเพาะเชื้อ เพื่อแยกโรคนี้ออกจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่โรคแผลริมอ่อนจะมีอาการเจ็บหรือปวดร่วมด้วย ในขณะที่โรคซิฟิลิสจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวดแผล
การป้องกันแผลริมอ่อน
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- หมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- ตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ


การรักษาแผลริมอ่อน
แผลริมอ่อน รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ไวขึ้นและลดรอยแผลเป็น ซึ่งการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะมีอยู่หลายชนิด เช่น
- ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)
- ยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)
- ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)
- ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
ยาปฏิชีวนะจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการให้ดีขึ้นภายใน 7 วัน เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและถูกประเภท บางรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลภายใน 7 วัน อาจจำเป็นต้องวินิจฉัยโรคใหม่อีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล : healthsmile, pobpad
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
แผลริมอ่อน สามารถรักษาให้หายขาดได้หากรับประทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์ให้ครบ และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มเติม ทั้งนี้ จะต้องดูแลรักษาความสะอาดบริเวณแผลให้สะอาดอยู่เสมอ และงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหาย