เริม งูสวัด แตกต่างกันอย่างไร ?

เริม งูสวัด แตกต่างกันอย่างไร ?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดเชื้อทางผิวหนังที่มีลักษณะผื่นเป็นตุ่มน้ำใส ปวดร้อน แสบ คัน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงโรคเริม และงูสวัด ซึ่งทั้งสองโรคก็มีรายละเอียดของโรคที่แตกต่างกัน โดยโรคเริมจะเกิดจาก HSV-1 และ HSV-2 ส่วนงูสวัดเกิดจาก (varicella virus) เป็นต้น

เริม (Herpes) คืออะไร ?

เริม (Herpes) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) โดยเชื้อไวรัสเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1)
  • เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 (Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2)

โดยเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้จะก่อให้เกิดอาการ เริมที่ปาก (Herpes Simplex) และเริมที่อวัยวะเพศ (Gential Herpes) และสามารถติดต่อกันระหว่างคนสู่คนได้โดยผ่านทาง การสัมผัสอย่างใกล้ชิด ทางน้ำลาย น้ำเหลือง หรือผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้

งูสวัด (Herpes Zoster, Shingles) คืออะไร ?

งูสวัด (Herpes Zoster, Shingles) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส  เชื้อไวรัสนี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ร่างกายทั้งจากการหายใจ หรือการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง จะทำให้เป็นโรคสุกใส เมื่อหายจากโรคนี้แล้ว เชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลานานหลายปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ  และเมื่อเวลาที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เช่น อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะแบ่งตัว เพิ่มจำนวนทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดการปวดตามแนวเส้น ประสาท และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนังตามแนวเส้น ประสาท

อาการของ เริมและงูสวัด ต่างอย่างไร ?

โรคเริม

นอกจากการมีตุ่มใส จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโต คล้ายไข้หวัด เป็นโรคที่รักษาไม่หาย เชื้อจะเข้าไปหลบซ่อนในเซลล์ประสาทและกำเริบได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ นอนน้อย ถูกแสงแดดจัดหรืออยู่ระหว่างมีรอบเดือน แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกจะรู้สึกอาการรุนแรงและใช้เวลานานกว่าจะหายประมาณ 1-2  สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เคยเป็นแล้วกลับมาเป็นใหม่ระยะเวลาการหายจะเร็วขึ้น เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแล้ว

โรคงูสวัด

จะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้น 2-3 วัน  มีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวด   แล้ว กลายเป็นตุ่มน้ำใส ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ร่วมด้วย ผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่ม หรือเป็น แถวยาวตามแนวเส้นประสาท และจะแตกออกเป็นแผล ต่อมาจะตกสะเก็ด และหายได้เองใน 2 สัปดาห์ และเมื่อแผลหายแล้ว อาจยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้ หากสัมผัสโดน เช่นเสียดสีจากเสื้อผ้าก็จะยิ่งปวดแสบได้

การติดต่อของ เริมและงูสวัด

โรคเริม

สามารถติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ ผ่านทางรอยถลอกของผิวหนังหรือทางเยื่อเมือก (เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก องคชาต ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก) จากน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่ง รวมไปถึงจากการใช้ของใช้ร่วมกัน การกิน การจูบ หรือจากมือติดโรคแล้วป้ายเข้าตา หรือติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่คลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกัน เช่น สามีภรรยา สมาชิกในครอบครัว เด็กในโรงเรียนหรือในสถานรับเลี้ยงเด็ก จะมีโอกาสติดเชื้อเริมได้ง่าย 

โรคงูสวัด

สามารถแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสของเหลวจากตุ่มใสจากผู้ติดโรคโดยตรง ฉะนั้นการสัมผัสใกล้ชิด หรือกินข้าวร่วมกับผู้ที่เป็นโรคได้ตามปกติ เว้นคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อนหากสัมผัสคนที่เป็นงูสวัดก็จะได้รับ เชื้อและเป็นไข้สุกใสได้ แต่ควรระวังไม่อยู่ใกล้คลุกคลีเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ ในระหว่างป่วย ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดแบบแพร่กระจายอาจสามารถแพร่เชื้อได้ทางลมหายใจได้ด้วย โดยเชื้อจะหยุดแพร่กระจายเมื่อตุ่มตกสะเก็ดแล้วเท่านั้น

การป้องกัน เริมและงูสวัด

  • โรคเริม หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงอย่าง การหอมแก้ม และการจูบ นอกจากนี้การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยก็สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ได้ สำหรับผู้ป่วยที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อนแล้ว ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเนื่องจากเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ถ้าหากมีสุขภาพที่แข็งแรงก็จะช่วยให้การติดเชื้อลดลงได้
  • โรคงูสวัด การสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัดอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดเป็นโรคสุกใสได้ ดังนั้นควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอน ของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน

การรักษา เริมและงูสวัด

โรคเริม 

ปัจจุบันยังคงเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วการรักษาโรคเริมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • การบรรเทาอาการเจ็บปวด โดยแพทย์อาจสั่งยาบรรเทาอาการปวด ซึ่งแผลจากโรคเริมจะ สามารถหายเองได้ภายในเวลา 2-6 สัปดาห์
  • การควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส โดยปกติแล้วเมื่อมีอาการของโรคเริม แพทย์มักจะสั่งใช้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และช่วยลดความรุนแรงของอาการ โดยยาเหล่านี้จะอยู่ในรูปของยาชนิดรับประทาน นอกจากนี้ ยาที่มีส่วนประกอบของอะไซโคลเวียร์ที่อยู่ในรูปแบบครีมสำหรับทา ก็ยังนิยมนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการของเริมในขณะที่เป็นได้ด้วย

โรคงูสวัด 

ให้ยาลดปวดตามอาการ และใช้ยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงจะช่วยลดรอยแดงได้ ยาฆ่าเชื้อไวรัสหลักๆมีสามตัวคือ Acyclovir, Famcyclovir และ Valacyclovir หลังจากรอยโรคหายแล้วผู้ป่วยบางรายจะมีภาวะ Post-herpetic neuralgia คืออาการปวดจากเส้นประสาทที่ถูกทำลายซึ่งอาจเป็นนานเป็นเดือนถึงปี การรักษานิยมใช้ยาแก้ปวดปลายประสาท เช่น Gabapentin, Pregabalin เป็นต้น

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่