เชื้อไวรัสเอชไอวี ถือเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ยังพบว่าในปัจจุบัน ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน จากข้อมูลในประเทศไทยล่าสุด มีผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ภายในปี 2564 เพียงปีเดียวถึง 5,825 คนเลยทีเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่อายุยังน้อย ตั้งแต่ 15-25 ปีที่อยู่ในวัยกำลังอยากรู้อยากลอง และไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากนัก เนื่องด้วยวันเอดส์โลกที่เพิ่งผ่านมานี้ เราจึงเผยแพร่บทความ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชไอวี เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักเรียนรู้ และทำความเข้าใจในโรคเอดส์ได้อย่างถูกต้อง
เชื้อไวรัสเอชไอวี ไม่ใช่ เอดส์
หลายคนเข้าใจว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ก็คือคนที่เป็นโรคเอดส์ แต่ในความจริงนั้น คนติดเชื้อก็แค่มีไวรัสเอชไอวีอยู่ในร่างกายเท่านั้น ยังไม่ใช่โรคเอดส์แต่อย่างใด “ไวรัสเอชไอวี” เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง หากไม่ได้ตรวจพบเชื้อ และไม่ได้ทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ตั้งแต่เนิ่นๆ คุณก็อาจเกิดโรคฉวยโอกาส หรือโรคเอดส์ขึ้นได้ โดยที่ “เอดส์” นั้นเป็นกลุ่มอาการของสภาพร่างกายที่อ่อนแอ จากการทำลายของไวรัสเอชไอวีที่มุ่งโจมตีเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามา พอเซลล์นี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เราก็มีภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำ จึงเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปที่ยังไม่มีเชื้อนั่นเอง
เชื้อไวรัสเอชไอวี ติดต่อได้ทางใดบ้าง?
เชื้อนี้มักจะอยู่ในสารคัดหลั่งของมนุษย์เป็นหลัก อาทิเช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอดของผู้หญิง น้ำหล่อลื่นของผู้ชาย สารคัดหลั่งที่รูทวารหนัก หรือน้ำนมจากเต้าของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งพฤติกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี มีดังนี้
การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด ชนิดฉีดเข้าเส้น หรือใช้อุปกรณ์กระบอกฉีดยาร่วมกัน จากงานวิจัยพบว่า เข็มฉีดยาที่ถูกใช้ไปแล้วนั้น จะมีเลือดติดค้างอยู่ในเข็ม และเชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถอาศัยอยู่ได้นานถึง 42 วันเลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และปัจจัยอื่นที่เหมาะสมด้วย และหากจะพูดถึงการเจาะ หรือสักตามร่างกาย ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้เช่นกัน ถ้าอุปกรณ์นั้นถูกใช้ซ้ำกับผู้อื่น หรือไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกหลักอนามัย
การไม่สวมถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์
เนื่องจากมั่นใจในคู่นอนของตัวเองว่าปลอดภัย แต่หารู้ไม่ว่า การไม่สวมถุงยางอนามัย นอกจากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริมที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ฯลฯ เพราะคุณไม่อาจรู้ได้ว่าคู่นอนไปมีความเสี่ยงกับคนอื่นมาก่อนหรือไม่ หรือหากใครที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ค่อนข้างบอบบาง และไม่ได้ถูกสร้างมาไว้ เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทำให้มีโอกาสเกิดแผลถลอก หรือฉีกขาดได้ง่าย เป็นการเปิดช่องทางรับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย
การติดต่อผ่านแม่สู่ลูก
ปัจจุบันพบกรณีนี้ค่อนข้างน้อย ยกเว้นคุณแม่ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยที่ไม่รู้ตัว หรือไม่ได้รับการตรวจวางแผนก่อนมีบุตร หรือไม่ได้รับการตรวจเอชไอวี ตั้งแต่ตอนฝากครรภ์ หรือไม่ได้ไปฝากครรภ์กับแพทย์ที่ใดเลย จึงไม่ได้มีการรักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัสตั้งแต่แรก และถึงแม้ว่าคุณแม่จะทานยาและไม่ส่งต่อเชื้อไปยังลูกน้อยได้ แต่หากคลอดบุตรออกมาแล้วไม่แนะนำให้เลี้ยงด้วยนมแม่ เนื่องจากในน้ำนมมีโอกาสที่จะส่งต่อเชื้อให้เด็กได้


เอชไอวี ไม่ได้ติดต่อจาก
- เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย
- การโดนยุงหรือแมลงกัด
- การใช้ห้องน้ำสาธารณะ
- การสัมผัส โอบกอด จับมือ
- การทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกัน
- การใกล้ชิดกัน หายใจ ไอ จาม อยู่ในห้องเดียวกัน
- การว่ายน้ำในสระเดียวกัน หรือใช้อุปกรณ์กีฬาร่วมกัน
ดูอย่างไร ว่าคนไหนติดเอชไอวี?
เราไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้เลยว่าใครมีเชื้อเอชไอวีอยู่ ต่อให้ดูสวยหล่อสะอาดสะอ้านเพียงใดก็ไม่ใช่ข้อสังเกตหลักที่จะบอกได้ว่ามีหรือไม่มีเชื้อ สิ่งเดียวที่เป็นการยืนยันได้แม่นยำที่สุด คือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีเท่านั้น
ระยะอาการของคนที่ติดเอชไอวี แบ่งออกเป็น
ระยะเฉียบพลัน
อาการที่พบได้ในระยะนี้ คือ ปวดศีรษะ มีไข้ ไอเจ็บคอ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวมโต หากไม่สังเกตตัวเองจริงๆ ก็คงเข้าใจว่าติดโควิด 19 หรือป่วยเป็นไข้หวัด โดยระยะเฉียบพลันนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-6 สัปดาห์ และยังสามารถแพร่เชื้อเอชไอวีให้กับคนอื่นได้แล้ว แม้จะยังเพิ่งได้รับเชื้อมาไม่นาน
ระยะสงบ
ถือเป็นช่วงที่น่ากลัวที่สุด เพราะไม่มีอาการอะไรให้สังเกตเห็นเลย เป็นช่วงเวลาของการดำเนินของโรคที่ใช้ระยะเวลาประมาณเกือบ 10 ปี โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัว ระยะนี้จะเป็น “พาหะ” ที่ส่งต่อเชื้อให้กับคู่นอนได้มากที่สุด
ระยะแสดงอาการ
- ไข้ขึ้นสูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาติดต่อกัน
- เป็นโรคงูสวัด โรคเริม
- มีผื่นขึ้นที่ลิ้น หรือในช่องปาก และตามร่างกาย
- ท้องเสียเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
- มีอาการเหนื่อยหอบ เหงื่อออกมากผิดปกติในตอนกลางคืน
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ขาหนีบ และบริเวณร่างกายอื่นๆ บวมโต
- มีอาการติดเชื้อในปอด
ระยะเอดส์
จะเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทานยาต้านไวรัสเอชไอวี และเชื้อได้ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไปมากจนมีผลทำให้เกิดอาการของโรคแทรกซ้อน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรคฉวยโอกาส” ได้แก่
- วัณโรค
- โรคปอดอักเสบ
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- โรคมะเร็งผิวหนัง
- โรคลำไส้อักเสบ
เอชไอวี ป้องกันได้ง่ายๆ
ถุงยางอนามัย
หลายคนอาจไม่ชอบการสวมถุงยางอนามัย เพราะเข้าใจผิดว่าจะทำให้อวัยวะเพศมีขนาดเล็กลง ทำให้หลั่งเร็วกว่าปกติ หรือทำให้กิจกรรมทางเพศไม่มีความสุข แต่นั่นเป็นความเชื่อที่ผิด หากคุณเข้าใจการใช้งานที่ถูกวิธี
การเลือกถุงยางอนามัย
- เช็ควันหมดอายุของถุงยางอนามัยก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อลดโอกาสที่ถุงยางฯ จะเสื่อมสภาพขณะใช้จนเกิดการฉีดขาดหรือหลุดรั่วได้
- เก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่ที่เหมาะสม อุณหภูมิห้องไม่ร้อนจัด หรือไม่เก็บไว้ในรถ
- เลือกขนาดให้เหมาะสมกับตัวคุณเอง ไม่ควรเลือกขนาดที่เล็ก หรือใหญ่เกินไป
- เมื่อแกะซองถุงยางอนามัยออกมาควรตรวจสอบว่ามีร่องรอยการฉีกขาดหรือไม่ โดยเฉพาะเวลาที่แกะซองควรฉีกบริเวณที่ทำรอยหยักไว้ให้ฉีก เพื่อไม่ให้ฉีกโดนถุงยางอนามัยขาด หรือหลีกเลี่ยงการใช้กรรไกร คัตเตอร์
การใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง
- ถุงยางอนามัยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สวมทับสองชั้น และการใส่ให้หนาขึ้นไม่ได้มีประโยชน์ในเรื่องของการป้องกันเชื้อเอชไอวีแต่อย่างใด รวมทั้งยังทำให้วัสดุเสียดสีกันไปมาจนเกิดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อได้
- เลือกใช้เจลหล่อลื่นที่เหมาะกับวัสดุที่ผลิตถุงยางอนามัย
- สวมถุงยางอนามัยเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเท่านั้น และรูดให้สุดถึงโคน
- หลังเสร็จกิจควรถอดถุงยางอนามัยตอนที่อวัยวะเพศแข็งตัวอยู่เช่นกัน อาจใช้กระดาษทิชชู่หุ้มถุงยางอนามัยก่อนที่จะถอด และทิ้งลงในถังขยะที่มีการปกปิดมิดชิด
เพร็พ : ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนมีความเสี่ยง (PrEP)
การทานเพร็พ จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100% เมื่อใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพร็พ จะทานได้ก็ต่อเมื่อคุณยังไม่มีเชื้อ และได้รับคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น ยาชนิดนี้ไม่สามารถซื้อได้ผ่านทางออนไลน์ หรือร้านขายยาทั่วไปได้ วิธีทานเพร็พให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด คือ การทานยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด เพราะจะทำให้ฤทธิ์ยาอยู่ในร่างกายตลอดเวลา หากมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงก็จะช่วยป้องกันเชื้อได้ทันที และวิธีนี้ยังช่วยให้คุณไม่ลืมที่จะทานยาเพร็พอีกด้วย
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีคู่นอนที่ไว้ใจได้หรือมีแฟนคนเดียว รักเดียวใจเดียวจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะรับเชื้อไวรัสเอชไอวีมา รวมทั้ง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดละเลิกสารเสพติด ที่นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่มึนเมาขาดสติ จนนำโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ มาสู่ตัวคุณเอง
ตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวี
การตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นประจำทุกปี หรือทุกครั้งที่มีความเสี่ยง เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะหากตรวจพบเชื้อไว คุณสามารถมีสุขภาพที่ดีได้ ไม่เจ็บป่วย ไม่เป็นโรคเอดส์ และยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ใจคุณต้องการโดยไม่ต้องกังวลถึงโรค
วางแผนครอบครัว
ก่อนแต่งงาน หรือมีครอบครัว ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีก่อน รวมทั้งคู่ไหนที่ต้องการมีลูก ก็ควรเช็คโรคเหล่านี้เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงส่งต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีไปยังลูกน้อยได้ หากพบเชื้อ ก็จะได้ทำการรักษา หากไม่พบเชื้อก็จะได้รู้วิธีการป้องกัน รวมทั้งคนที่มีเชื้อเอชไอวีก็สามารถมีลูกได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์โดยละเอียด


จะยังต้องลังเลอะไรอยู่! เมื่อรู้ว่าการตรวจเอชไอวี มีแต่ข้อดีมากมาย แถมยังสามารถตรวจได้ฟรีทุกเพศทุกวัยที่โรงพยาบาลรัฐประจำจังหวัด ที่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องรอผลตรวจนาน ไม่ต้องลางานหรือรอลุ้นจนเครียด ทั้งนี้อยากให้เข้าใจว่า เอชไอวีไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะทุกคนก็มีโอกาสเสี่ยงได้ทั้งนั้น การรู้สถานะเอชไอวีของตัวคุณเองจะทำให้วางแผนครอบครัวในอนาคตได้ มองเห็นภาพที่จะดำเนินชีวิตต่อไปให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และปลอดภัยจากโรคร้าย