ซิฟิลิส ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาได้

ซิฟิลิส ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาได้
ซิฟิลิส

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง พบมากในกลุ่มวัยรุ่นเป็นได้ทั้งชายและหญิง โดยสาเหตุหลัก คือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ซึ่งซิฟิลิสในระยะแรกๆมักจะไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจน จึงทำให้ไม่รู้ตัวว่าตนเองติดเชื้อ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รักษา อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบเจอตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

สาเหตุของซิฟิลิส

ซิฟิลิส สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเลือด การสัมผัสโดยตรงกับแผล การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามซิฟิลิสจะไม่ติดต่อผ่านการใช้ของใช้ หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผ้าเช็ดตัว การใช้ช้อน การสัมผัสลูกบิดประตู การว่ายน้ำในสระเดียวกัน หรือการนั่งฝารองชักโครกร่วมกัน

ซิฟิลิสอาการเป็นอย่างไร ?

ซิฟิลิสอาการเป็น อย่างไร

ซิฟิลิส จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยอาการของซิฟิลิส จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้

ซิฟิลิสระยะที่ 1

หลังจากได้รับเชื้อไปประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ในผู้ชายจะเริ่มมีแผลริมแข็ง (Chancre) บริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ไม่เจ็บ ในผู้หญิง แผลอาจจะซ่อนอยู่ในช่องคลอด และในบางคนจะพบแผลบริเวณทวารหนักได้ ผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าเคยมีแผลลักษณะนี้มาก่อน เนื่องจากแผลจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน แต่เชื้อซิฟิลิส จะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและก่อเกิดซิฟิลิสในระยะต่อไป

ซิฟิลิสระยะที่ 2

ในระยะที่ 2 เชื้อซิฟิลิสได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเข้าไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีผื่น ซึ่งมักจะพบบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า สามารถพบผื่นบริวเณแขนขาและลำตัวได้เช่นกัน โดยจะไม่มีอาการคันในบริเวณผื่น ผื่นอาจจะหายได้เองจะเกิดเป็นซ้ำอีก

ระยะแฝง

ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกินระยะเวลานานได้เป็นปี โดยเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 แล้วไม่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบขณะมาตรวจเลือด เช่น มารดาตรวจพบขณะฝากครรภ์ หรือการตรวจสุขภาพที่ระบุการตรวจเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น

ซิฟิลิสระยะที่ 3

ระยะนี้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาบอด หูหนวก มีอาการพิการทางสมอง มีโรคหัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก และข้อต่อต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อนานหลายปีโดยไม่ได้รับการรักษา และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

การตรวจวินิจฉัยซิฟิลิส

การตรวจวินิจฉัยซิฟิลิส สามารถตรวจยืนยันได้จากการเจาะเลือด อาจมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่น แผลริมแข็ง ไปตรวจหาเชื้อร่วมด้วย ส่วนในซิฟิลิสระยะที่ 3 แพทย์อาจเจาะน้ำจากไขสันหลังเพื่อตรวจความผิดปกติในระบบประสาทร่วมด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจการติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจพบร่วมกันได้ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น เอชไอวี เป็นต้น

การรักษาซิฟิลิส

ซิฟิลิสสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก แม้ว่าอาการในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก่อนมีการพัฒนามากขึ้นจนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย ทั้งนี้ควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หากขาดยาอาจทำให้ไม่สามารถหายขาดได้

ซิฟิลิสแนวทางการป้องกัน

ซิฟิลิสแนวทางการป้องกัน
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันผู้อื่น
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้
  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • หญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์

ขอบคุณข้อมูล : ch9airport

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายได้เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง หรือมีอาการคล้ายคลึงกับซิฟิลิส ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะหากตรวจเจอเชื้อเร็ว ก็มีโอกาสในการรักษาให้หายในระยะแรก หรือ ในระยะที่ที่อาการยังไม่รุนแรงมาก “ซิฟิลิสตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาได้”