หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum)

หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum)
หูดข้าวสุก

หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum contagiosum virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกับที่ทำให้เกิดหูดทั่วไป พบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเข้าไปในผิวหนังที่แตก ลอก หรือผิวหนังที่เป็นแผล และกลายเป็นหูดข้าวสุกได้ แต่จะไม่มีผลกระทบต่ออวัยวะภายใน

การวินิจฉัย หูดข้าวสุก 

แพทย์จะวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วยการซักถามประวัติ ลักษณะอาการของโรค และการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เพื่อยืนยันการติดเชื้อได้แม่นยำมากขึ้น เช่น 

  • ตรวจดูบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ 
  • การขูดผิวหนัง
  • การเก็บตัวอย่างจากบริเวณรอยโรคอย่างชัดเจนไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
อาการของ หูดข้าวสุก

อาการของ หูดข้าวสุก

อาการของหูดข้าวสุก จะมีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง มักพบขึ้นตามลำตัว แขนขา รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ (โดยเฉพาะในผู้ใหญ่) และอาจพบได้ที่บริเวณใบหน้าและรอบดวงตา โดยจะมีลักษณะขึ้นเป็นกลุ่ม และมักพบมากกว่า 1 แห่ง ตุ่มหูดข้าวสุกจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 2-6 มิลลิเมตร ในบางครั้งอาจมีขนาดใหญ่ถึง 1-3 เซนติเมตร

สาเหตุของ หูดข้าวสุก

สาเหตุของหูดข้าวสุก เกิดจากไวรัสกลุ่ม poxviridae การติดเชื้อมักเกิดเฉพาะผิวหนังชั้นนอก โดยของเหลวที่อยู่ในกลุ่มรอยโรคนี้ จะประกอบด้วย intracytoplasmic inclusion body เรียก molluscum body การถ่ายทอดเชื้อเกิดขึ้นโดยการสัมผัส นอกจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว การสัมผัสโดยตรง เช่น การจับทารกหลังจากจับรอยโรค อาจทำให้ทารกเป็นหูดข้าวสุกได้ ในผู้ใหญ่มักเป็นเฉพาะที่บริเวณอวัยวะเพศ แต่ในเด็กอาจแสดงอาการได้ทั่วร่างกาย เช่น ข้อพับแขน-ขา และ ลำตัว เป็นต้น

การป้องกัน หูดข้าวสุก

  • ดูแลตนเองตามหลักสุขอนามัยพื้นฐาน
  • ล้างมือให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะหลังการจับสิ่งของที่เป็นส่วนรวม
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของสาธารณะและอุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับผิวหนังได้โดยตรง 
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวรวมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ที่โกนหนวด สบู่ก้อน แปรงสีฟัน และเสื้อผ้า 
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีหูดข้าวสุกบริเวณใกล้อวัยวะ เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ
การรักษา หูดข้าวสุก

การรักษา หูดข้าวสุก

ปัจจุบันหูดข้าวสุกไม่มียารักษาโดยตรงเฉพาะโรค เพราะสามารถหายได้เองแต่ใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งทางเลือกการรักษาช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค ได้แก่

  1. จี้ด้วยความเย็น เพื่อทำลายหูด
  2. ใช้อุปกรณ์ปลายแหลมบ่งตุ่ม หูดข้าวสุกและกดออก
  3. ใช้ยาทาเพื่อทำลายเซลล์ติดเชื้อหูดข้าวสุก

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูล : medthai pobpad