หนองในเทียม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากแบคทีเรีย คลามายเดีย ทราโคเมทิส (Chlamydia Trachomatis) อาจเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่ หนองในเทียมมักจะไม่แสดงอาการ ให้เห็นชัดเจน หรืออาจมีอาการปวดบริเวณอวัยวะเพศ และมีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือองคชาต มีตกขาวมากกว่าปกติ ปวดท้องน้อย แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
การวินิจฉัยหนองในเทียม
Table of Contents
แพทย์จะซักประวัติและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย จากนั้นจะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้
- การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
- การทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง


อาการหนองในเทียม
หนองในเทียม เป็นโรคที่มักจะไม่แสดงอาการ ซึ่งผู้ที่มีอาการต่างๆมักปรากฏภายใน 1-3 สัปดาห์ หลังจากสัมผัสเชื้อ
อาการหนองในเทียม ผู้ชาย : อาจพบมีสารคัดหลั่งไหลจากท่อปัสสาวะ หรือรู้สึกปัสสาวะแสบขัด นอกจากนี้ อาจรู้สึกแสบ หรือคันที่บริเวณอวัยวะเพศ อาจพบอาการปวด บวมที่บริเวณลูกอัณฑะได้แต่ไม่บ่อย
อาการหนองในเทียม ผู้หญิง : อาจพบมีตกขาวมากผิดปกติ หรือมีปัสสาวะแสบขัด กรณีการติดเชื้อลามไปถึงท่อนำไข่ ผู้หญิงที่ติดโรคอาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ กรณีมีอาการมักจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง คลื่นไส้ มีไข้ ปวดท้องน้อยขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบประจำเดือน
หนองในเทียมติดต่อกันได้อย่างไร ?
การติดต่อของหนองในเทียม เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก ดังนั้นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันจึงเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดหนองในเทียมสูง ยิ่งมีจำนวนคู่นอนมากขึ้นเท่าไร โอกาสการติดเชื้อก็จะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย หรือหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิง ก็สามารถติดหนองในเทียมได้เช่นกัน เพราะเชื้อหนองในเทียม สามารถติดต่อได้ทางทวารหนัก หรือจากการที่อวัยวะเพศสัมผัสกัน
ภาวะแทรกซ้อนหนองในเทียม
ภาวะแทรกซ้อนในผู้ชาย
ผู้ชายที่เป็นหนองในเทียม เชื้อคลามีเดียสามารถแพร่กระจายไปยังอัณฑะและท่ออสุจิได้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บปวด หรือบวม อาการเหล่านี้เรียกว่า อัณฑะอักเสบ สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา อาจส่งผลเสียต่อภาวะเจริญพันธุ์ทำให้มีบุตรยาก
ภาวะแทรกซ้อนในผู้หญิง
ผู้หญิงที่เป็นหนองในเทียม เชื้อคลามีเดียสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูก รังไข่ หรือท่อนำไข่ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ตกขาวมากผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง เสี่ยงการตั้งครรภ์นอกมดลูก
วิธีป้องกันหนองในเทียม
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- เข้ารับการตรวจคัดกรองหนองในเทียม เป็นประจำทุกปี
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และควรใช้ให้ถูกวิธี
- งดการมีเพศสัมพันธ์ วิธีเดียวที่แน่นอนที่สุดในการหลีกเลี่ยงการเป็นหนองในเทียม
- หากมีอาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเป็นโรคหนองในเทียม ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และรีบพบแพทย์


การรักษาหนองในเทียม
หนองในเทียม สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเป็นเวลานานประมาณ 10 วัน หรือในบางกรณีอาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ กว่าจะรักษาหนองในเทียมให้หายขาด ในระหว่างที่รับการรักษาหนองในเทียม ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และควรใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามคุณหมอส่งเพื่อป้องกันการดื้อยาและการกลับมาติดเชื้อซ้ำ
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
ขอบคุณข้อมูลจาก : haamor, pobpad, hellokhunmor