โรคซิฟิลิส รู้เท่าทัน ป้องกันได้ รักษาหายขาด

โรคซิฟิลิส รู้เท่าทัน ป้องกันได้ รักษาหายขาด
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ตรวจพบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในบรรดากามโรคทั้งหมด และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทั้งชายและหญิง  “ซิฟิลิส” เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Treponema Pallidum (ทริปโปนีมา พัลลิดุม) แบคทีเรียชนิดนี้ มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กมาก และสามารถอาศัยอยู่ได้ในเกือบทุกส่วนของร่างกาย หากส่องกล้องดูจะพบว่าแบคทีเรียมีลักษณะเหมือนเกลียวสว่าน เชื้อซิฟิลิสนั้นอ่อนแอ และตายง่ายในสิ่งแวดล้อมนอกร่างกาย สามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิห้องบริเวณนั้น งานวิจัยยังพบว่า ผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิส จะมีโอกาสเสี่ยงติดเอชไอวีได้ง่ายมากกว่า คนที่ไม่มีโรคนี้ถึง 5 เท่า เนื่องจากภูมิคุ้นกันอ่อนแอลง

ซิฟิลิส ติดต่อได้ผ่านช่องทางไหนบ้าง

  1. ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ผ่านทางเลือด ผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หากมีการทำออรัลเซ็กส์ เลียบริเวณอวัยวะเพศ หรือการจูบก็สามารถติดทางช่องปากได้ ถ้ามีแผลในช่องปาก
  2. ติดต่อผ่านแม่สู่ลูก ขณะตั้งครรภ์ หรือในระหว่างการคลอด
  3. ติดต่อทางอื่น ๆ เช่น ผิวหนังที่มีแผล สัมผัสเชื้อซิฟิลิสโดยตรง

ถ้ามีความเสี่ยงเหล่านี้ หากตรวจเจอช้า และปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ในระยะยาวอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพราะเชื้อนี้มีระยะแฝงตัวของโรคที่ยาวนาน และสามารถแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนหรือแฟนของคุณได้ ในกรณีแม่ที่ตั้งครรภ์ และไม่รู้ตัวว่ามีเป็นโรคนี้ อาจทำให้เด็กทารกติดเชื้อ ส่งผลให้มีความผิดปกติทางสมอง หรือเสียชีวิตได้ทั้งในครรภ์ หรือหลังคลอด และยังอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้อีกด้วย

อาการของซิฟิลิส

ระยะแรกของการติดเชื้อซิฟิลิส แทบจะไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นเลย อาจมีเพียงแผลเล็กน้อยบริเวณอวัยวะเพศ และแผลนั้นอาจหายไปได้เองแม้ไม่ได้ทำการรักษาหรือทายาใด ๆ แต่ยังมีความเสี่ยง ที่จะเกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้ในภายหลัง โดยโรคซิฟิลิสมีระยะต่าง ๆ ดังนี้

ซิฟิลิสระยะแรก 

อาการที่สังเกตได้ชัดในระยะนี้ คือ มีแผลริมแข็ง บริเวณที่ติดเชื้อ มีตุ่มแดงและแตกออกเป็นแผล บริเวณอวัยวะเพศ อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด หรือริมฝีปาก หลังจากได้รับเชื้อตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึง 3 เดือน โดยแผลที่เกิดขึ้นนั้นมักจะเป็นแผล ๆ เดียว หรือหลาย ๆ แผลก็ได้ กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ มีขอบนูน และมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย แผลริมแข็งนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นประมาณ 1-5 สัปดาห์ และจะหายไปได้เอง

ซิฟิลิสระยะสอง 

หลังจากแผลริมแข็งหายแล้ว จะมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ลักษณะของผื่น มีสีแดงอมน้ำตาล สามารถพบได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ และผู้ติดเชื้ออาจมีไข้ รู้สึกปวดตามข้อต่าง ๆ หรือมีอาการของข้ออักเสบ และต่อมน้ำเหลืองโต ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยอาการเหล่านี้ จะคงอยู่ประมาณ 1-3 เดือน แล้วสามารถหายไปได้เอง แต่ในบางคนก็กลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ซิฟิลิสระยะแฝง 

ระยะนี้ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายที่สุด เพราะแทบจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกให้เห็นเลย เป็นช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 2-30 ปีหลังจากได้รับเชื้อซิฟิลิส และยังเป็นระยะที่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ในกรณีคุณแม่ตั้งครรภ์หากอยู่ในระยะนี้ก็ยังสามารถส่งต่อเชื้อไปยังลูกได้เช่นกัน

ซิฟิลิสระยะสุดท้าย

 ระยะนี้เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 2-30 ปีหลังจากได้รับเชื้อ อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายจะถูกทำลาย เช่น หัวใจ หลอดเลือดสมอง เส้นประสาท เส้นเลือด ไขสันหลัง ตับ และกระดูก ทำให้ผู้ติดเชื้อ รู้สึกอ่อนแอ ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ ตัวชา มีอาการป่วยทางจิต และสมองเสื่อม เกิดความผิดปกติที่สมอง หัวใจ และหลอดเลือด เชื้อซิฟิลิสนี้ ยังสามารถแพร่ไปที่บริเวณดวงตา และอาจทำให้ตาบอดได้ หากไม่ทำการรักษา อวัยวะที่ถูกทำลาย จะไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติ และเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นซิฟิลิส?

คนส่วนใหญ่มักจะตรวจเจอเชื้อซิฟิลิส ก็ต่อเมื่อไปบริจาคเลือด ตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์ หรือตรวจสุขภาพประจำปี ดังนั้นหากมีโอกาสก็ควรทำการตรวจซิฟิลิสสักครั้ง คนที่ควรตรวจโรคนี้ ได้แก่ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่น และเพศที่สาม กลุ่มชายรักชาย หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือมีคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิส สามารถทำได้ด้วยการตรวจหนองจากแผลในระยะที่หนึ่ง หรือทำการตรวจเลือดก็ได้ โดยแบ่งวิธีการตรวจออกเป็น 3 วิธีได้แก่

  • การตรวจซิฟิลิสแบบ Dark Field Exam  คือ การส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนัง น้ำเหลืองจากแผล หรือผื่นที่สงสัยว่าจะติดเชื้อซิฟิลิสในระยะแรก หรือระยะที่สอง
     
  • การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อซิฟิลิส โดยแยกเป็น
    • การเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเบื้องต้น ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส ได้แก่ การตรวจ VDRL หรือ RPR หลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว และเริ่มปรากฏอาการเริ่มแรก หากให้ผลบวกต้องเจาะเลือดอีก เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
    • การเจาะเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส ได้แก่ FTA-ABS (Fluorescent Treponemal Antibody Absorption Test) หรือ MHA-TP (Microhemagglutination-Treponema Pallidum) สำหรับการตรวจนี้ ผู้ที่เคยเป็นซิฟิลิสมาก่อน ถึงจะรักษาหายแล้ว อาจจะให้ผลบวกได้ โดยที่ไม่เป็นโรคในขณะนั้น
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid Test) จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่า ผู้ตรวจมีการติดเชื้อในระบบประสาท

ซิฟิลิสรักษาอย่างไร?

ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ถ้าคุณสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อ ให้พบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับคำแนะนำและปรึกษาขั้นตอนการรักษา ไม่ควรหาซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง เพราะอาจไม่ได้ผล เสียทั้งเงินและเวลา การพบแพทย์เฉพาะทางจะทำให้คุณได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยหายขาดจากโรคจริง ๆ

ซิฟิลิส สามารถรักษาได้โดยการฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เข้ากล้ามเนื้อ หรือการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากแพทย์ และระยะของโรคที่เป็น ในกรณีของคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็สามารถใช้วิธีการรักษานี้ได้ ทั้งตอนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ และหลังคลอด เด็กเองจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องด้วย

ส่วนใหญ่แพทย์จะเลือกใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินจี (Penicillin G) ที่แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น ยาเบนซาธีน เพนิซิลลินจี (Benzathine Penicillin G) ยาเอเควียส เพนิซิลลินจี (Aqueous Penicillin G) ซึ่งจะฉีดให้ผู้ป่วย โดยดูจากระยะเวลาในการติดเชื้อซิฟิลิสว่าเป็นมานานเท่าใด

  • ผู้ป่วยระยะที่ 1-2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง
  • ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์
  • หากโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง แพทย์จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อ 18-24 ล้านยูนิตต่อวัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 3-4 ล้านยูนิตทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10-14 วัน หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับการรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 10-14 วัน
  • สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนิซิลลิน ยังไม่มีตัวยาที่ใช้ทดแทนอย่างแน่นอน อาจจะให้รับประทานยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นานติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน หรือฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1-2 กรัมเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 10-14 วัน

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาอาจส่งผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น รู้สึกปวดศีรษะ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อ แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงในเวลาไม่นาน บางครั้งแพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทา แต่หากคุณมีประวัติการแพ้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อประเมินผล และปรับตัวยาที่ใช้ในการรักษาต่อไป

ในระหว่างการรักษาซิฟิลิส ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หากสามารถทำได้ หรือถ้าต้องการมีเพศสัมพันธ์จริง ๆ ให้สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง จนกว่าแผลจะหายสนิท และควรแจ้งให้คู่นอนทราบถึงเรื่องนี้ เพื่อมารับการตรวจและรักษาโรคด้วย เพราะหากคู่นอนของคุณมีเชื้อ จะทำให้การรักษามีความยุ่งยาก เพราะสามารถกลับไปติดโรคซ้ำได้ เนื่องจากคู่นอนของคุณไม่ได้ทำการรักษาด้วย และถึงแม้จะทำการรักษาโรคจนหายแล้ว ก็จำเป็นต้องติดตามผลหลังจากรักษา 6 เดือนตรวจเลือดซ้ำหลังจากนั้นทุก ๆ ปีเพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาได้ผล

วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส

การป้องกันโรคซิฟิลิสเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ตัวเราควรให้ความใส่ใจในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง รับผิดชอบต่อตนเองและคู่นอน ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส และไวรัสเอชไอวีโดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงควรได้รับการตรวจ HIV และโรคติดต่อทางเพศเป็นประจำทุกปี งดกิจกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป หรือเสพสารเสพติด ทำให้ขาดสติเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ส่วนการล้างอวัยวะเพศ การปัสสาวะ และการสวนล้างช่องคลอด หรือทวารหนัก หลังมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ สิ่งที่จะป้องกันได้คือการใส่ถุงยางอนามัยตั้งแต่แรก แม้ว่าเป็นการทำรักทางปากหรือออรัลเซ็กส์ก็ควรใช้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้หากทุกคนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก็จะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อของโรคได้