กินยาต้านไวรัส HIV อย่างไร ให้ได้ผลดี

กินยาต้านไวรัส HIV อย่างไร ให้ได้ผลดี
การรักษา HIV/AIDS
  1. กินยาตรงเวลา ทุกวัน
  2. อย่าเปลี่ยนยาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่าปฏิบัติตามแผนการรักษาได้ยาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาแนวทางการรักษาเอชไอวีใหม่ที่เหมาะสม
  3. หากจะใช้ยาอื่นนอกเหนือที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  4. ควรกินอย่างสม่ำเสมอ หากหยุดยาระยะหนึ่งแล้วมากินต่อ ก็อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา การรักษาจะยิ่งยากมากขึ้น
  5. ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ  “ ทุก 24 ชั่วโมง ” จะกินเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เช่น กินตอน 9 โมง เช้า ก็ต้องเป็น 9 โมง เช้าทุกวัน
  6. ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน   เป็นยาที่กินก่อนนอน  และต้องกินเวลาเดียวกันทุกวัน  เช่น กินตอน 3 ทุ่ม (21 น.) ก็ต้องเป็น 3 ทุ่ม (21 น.) ทุกวัน  หากบางวันนอนดึก กินยา 3 ทุ่มแล้วยังไม่เข้านอนก็ไม่เป็นไร   ยาก่อนนอนมักเป็นยาที่มีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้-อาเจียน มึนงงหรือง่วงนอน เช่น ยา EFV (เอฟฟาไวเร็นซ์)  ถ้ากินแล้วนอนจะช่วยให้อาการข้างเคียงเหล่านี้ลดน้อยลงได้
  7. ยาที่กินวันละ 2 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ  “ ทุก 12 ชั่วโมง ” หรือ  “ เช้า-เย็น ” ต้องกินยา ห่างกัน 12 ชั่วโมง เช่น มื้อแรก กิน 8 โมงเช้า มื้อที่ 2 ต้องกินตอน 2 ทุ่ม ของทุกวัน ( ควรตั้งเวลาที่สามารถปฏิบัติได้สะดวก เช่น ไม่ควรตั้งเวลาดึกมาก หรือเช้าเกินไปจนลุกตื่นไม่ไหว )
  8. นอกจากตรงเวลาแล้ว ยาบางชนิดจำเป็นต้องสัมพันธ์กับอาหารด้วย  เช่น  ยาก่อนอาหาร   ต้องกินตอนท้องว่าง หรือกินก่อนอาหารหนึ่งชั่วโมง เพราะจะช่วยให้ยาดูดซึมได้ดี และไม่ถูกทำลายโดยน้ำย่อยอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด  เช่น ยา ddI (ดีดีไอ) , Indinavir (อินดินาเวียร์) ยาหลังอาหาร    ต้องกินหลังอาหารทันที  เพราะยาจะดูดซึมได้ดีเวลาที่ในกระเพาะมีอาหาร และป้องกันการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร เช่น RTV (ริโทนาเวียร์) , AZT (ซิโดวูดิน)
  9. กรณีที่ผู้ป่วยจัดยากินเองไม่ได้   ญาติก็สามารถช่วยจัดยาเตรียมไว้ให้ได้  โดยใส่กล่องแบ่งยา หรือซองแบ่งยา  ซึ่งทางร.พ.สำโรงการแพทย์ มีกล่องแบ่งยาหรือซองแบ่งยา  สำหรับญาติจัดเตรียมยาผู้ป่วย หรือผู้ป่วยที่ต้องการจัดเตรียมยาไว้ล่วงหน้าเพื่อกันลืม 

ข้อมูลดี ๆ จาก ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์   

Exit mobile version