เอชไอวี (HIV)

เอชไอวี (HIV)
เอชไอวี HIV

เชื้อเอชไอวี (HIV)เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีเซลล์เป้าหมายคือเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค เมื่อร่างกายติดเชื้อเอชไอวี โดยการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีพบได้ในทุกอายุ ทุกเพศ

เอชไอวีคืออะไร

เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มรีโทรไวรัส (Retrovirus) และอยู่ในตระกูล เลนติไวรัส (Lentivirus family) โดย เอชไอวีแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามลักษณะทางพันธุกรรม ได้แก่ เอชไอวี-1 (HIV-1) และเอชไอวี-2 (HIV-2) ทั้งสองชนิดสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้ โดยเอชไอวี-1 พบมากกว่าและจะพบในผู้ป่วยในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และส่วนกลางของทวีปอัฟริกา ในขณะที่ เอชไอวี-2 จะพบในผู้ป่วยของประเทศอินเดีย และอัฟริกาตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ อาการ และการดำเนินโรคของเชื้อทั้งสองชนิดคล้ายคลึงกัน

การติดเชื้อเอชไอวี

  • การร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี โดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย
  • การสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของติดเชื้อเอชไอวี เช่น น้ำลาย น้ำอสุจิ เสมหะ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำนมแม่ เป็นต้น
  • ติดเชื้อผ่านบาดแผลเปิด แผลเริม และแผลติดเชื้อ
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้เข็มเจาะหู และการสักลงบนผิวหนัง 
  • การติดต่อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก (Vertical Transmission)

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอดส์

  • ปริมาณและแหล่งที่อยู่ของเชื้อ จะต้องได้รับเชื้อเอชไอวีปริมาณมากพอ พบมากในน้ำคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในเลือด
  • คุณภาพของ เชื้อเอชไอวี ที่สามารถถ่ายทอดกันได้ คือ เชื้อที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น เชื้อที่อยู่นอกร่างกาย บนพื้น หรืออยู่ในสัตว์อื่น ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้
  • ช่องทางการติดต่อ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน

อาการของการติดเอชไอวี

ระยะไม่ปรากฎอาการ 

ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ออกมา จึงดูเหมือนคนมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติ แต่อาจจะเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ จากระยะแรกเข้าสู่ระยะต่อไปโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนอาจไม่มีอาการนานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อต่อไปให้กับบุคคลอื่นได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเพราะไม่ได้ตรวจเอชไอวี

ระยะเริ่มปรากฎอาการ

ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในเห็น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน, มีเชื้อราในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก, เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม และมีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด เป็นต้น ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นปีก่อนจะกลายเป็นเอดส์ระยะเต็มขึ้นต่อไป

ระยะโรคเอดส์

ในระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก ทำให้เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย หรือที่เรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส”ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใดของร่างกาย หากเป็นวัณโรคที่ปอด จะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาทก็จะมีอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรงเป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อผู้เป็นเอดส์เข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้แล้วโดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปี

การรักษาการติดเชื้อเอชไอวี

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ให้หายขาดได้ แต่มียาหลายชนิดที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวี โดยมียาหลายสูตร โดยการจ่ายยาต้องมีแพทย์เท่านั้น โดยการจ่ายยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

ใครที่ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวี HIV

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดโดยการฉีด และใช้เข็มฉีดยา
  • ผู้ที่มีประวัติเคยติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรืออยู่กินฉันท์สามีภรรยา
  • ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตนจะมีพฤติกรรมเสี่ยง
  • ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก

เมื่อเราทราบว่าติดเชื้อ HIV ควรทำอย่างไร

  • หาความรู้เรื่องเอชไอวี HIV ให้เกิดความเข้าใจ
  • ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
  • เข้าพบแพทย์ ให้เร็วที่สุด เพราะการรักษาเร็วที่สุดจะเกิดผลดีที่สุด
  • รับยาต้านไวรัส และทานเป็นประจำ อย่าให้ขาดยา
  • รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
  • หาวิธีลดความเคร่งเครียดทางจิตใจด้วยวิธีการต่างๆ