ประโยชน์ของการตรวจเอชไอวี

ตรวจเอชไอวี เอชไอวี HIV

เอชไอวีคืออะไร?

เอชไอวีเป็นไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องของมนุษย์ ซึ่งโจมตีและทำลายระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งโรคเอดส์ (AIDS) คือระยะท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อเอชไอวี จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น รวมทั้งมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

เอชไอวีสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การถ่ายเลือด หรือจากแม่สู่ลูกก่อนคลอด คุณสามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ด้วยการแบ่งปันเข็มฉีดยาหรือหลอดฉีดยากับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

ประโยชน์ของการตรวจเอชไอวี

  1. เข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ 
  2. เพื่อทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างปกติ 
  3. สามารถวางแผนป้องกันคู่ของตนเองจากการติดเชื้อ และชวนคู่ไปตรวจเลือดได้ 
  4. สามารถวางแผนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้ 
  5. เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ และเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
  6. ช่วยลดความกังวลใจ และทำให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  7. หากคุณติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการป่วยจากโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรค และลดการเสียชีวิตลง
  8. สามารถลดโอกาสในการพัฒนาจากเอชไอวีเป็นโรคเอดส์ได้อย่างมาก
ตรวจเอชไอวีฟรี

ตรวจเอชไอวี ได้ที่ไหนบ้าง?

เราสามารถไปตรวจเอชไอวีฟรีได้ตามโรงพยาบาลและคลินิกต่อไปนี้

1. ตรวจเอชไอวีฟรี ใน กทม.
          – คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น.)
          – คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชายและคนข้ามเพศ (Transgender) ในวันอังคาร-เสาร์ เวลา 16.00-21.00 น.)
          – คลินิกพิเศษของศูนย์ดรอปอิน
          – สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซอยรามคำแหง 97/2 (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง ในวันจันทร์ พฤหัส ศุกร์ เวลา 15.00-20.00 น. และ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-17.00 น.)

          นอกจากสถานพยาบาลดังข้างต้นแล้ว ยังสามารถเข้ารับการตรวจเอชไอวีฟรี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และสถานพยาบาลภายใต้ระบบประกันสุขภาพ

2. ตรวจเอชไอวีฟรี ในต่างจังหวัด
          สำหรับต่างจังหวัด สามารถไปตรวจเอชไอวีฟรี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐ ศูนย์อนามัย หรือคลินิกที่ร่วมโครงการตรวจเอชไอวีฟรี 

ขั้นตอนการตรวจเอชไอวีมีอะไรบ้าง?

1. แต่ละสถานที่อาจมีกระบวนการทำประวัติต่างกัน
    – หน่วยบริการของรัฐจะขอบัตรประชาชนเพื่อทำประวัติและตรวจสอบสิทธิ์
    – ศูนย์ดรอปอินอาจขอชื่อและวันเกิดเพื่อออกรหัสการใช้บริการและขอข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง
    – คลินิคนิรนามอาจไม่ต้องให้ชื่อและเลขบัตรประชาชน แต่ก็ต้องกรอกประวัติด้านพฤติกรรมด้วย

2. กระบวนการตรวจเอชไอวีจะใช้เวลาประมาณ 20 – 40 นาที เจ้าหน้าที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงและทำความเข้าใจเรื่องเอชไอวี จากนั้นจะให้ตัดสินใจว่าจะตรวจเอชไอวีหรือไม่ หากสนใจตรวจ เจ้าหน้าที่จะให้เซ็นชื่อในใบยินยอมเพื่อตรวจเอชไอวี 

3. จากนั้นจึงจะทำการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี 

4. เจ้าหน้าที่อาจนัดมาฟังผลตรวจในวันอื่น หรือบางที่อาจแจ้งผลได้ภายในวันเดียวกันนั้นเลย

5. หลังจากได้ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้บริการปรึกษาอีกครั้งก่อนรับฟังผลเลือด และให้คำแนะนำเกี่ยวกับความหมายของผลตรวจ วางแผนการดูแลตนเองและแผนในการใช้ชีวิต 

6. หากพบว่ามีเชื้อ เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลเลือดพร้อมตอบคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์

การแปลผลตรวจว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่

การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ตามโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือตามคลินิก คนทั่วไปส่วนใหญ่ มักจะไม่เข้าใจในใบผลตรวจ ที่ทางแพทย์ได้ให้มาโดยรายละเอียดต่าง ๆ ที่แสดงในใบผลตรวจเอชไอวี จะบ่งบอกถึงสถานะร่างกาย ของผู้ตรวจ การแปลผลต่าง ๆ อาจทำให้ ใครหลายคน ไม่เข้าใจว่าตนเอง นั้นติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ เพราะ การตรวจ ในแต่ละรูปแบบ ก็อาจจะมี วิธีการแปลผล ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

การตรวจ Anti-HIV (stat) : Negative แปลว่า การตรวจภูมิคุ้มกันเอชไอวีแบบทันที ซึ่งเท่ากับได้ผลลบ หรือไม่มีการติดเชื้อ ยกเว้นแต่ว่าพึ่งไปได้รับเชื้อมา จึงทำให้ตรวจไม่เจอเพราะร่างกายอาจจะยังไม่ทันสร้างภูมิคุ้มกัน หรืออยู่ในช่วงของระยะฟักตัว (window period)

การตรวจ ECLIA หมายถึง การตรวจคัดกรองเป็นการตรวจด้วยเทคนิค ECLIA โดยย่อมาจาก Electrochemiluminescence Immunoassey หรือบางครั้งเรียกว่า 4 Generation ซึ่งแปลได้ว่า การตรวจคัดกรองเชื้อเอดส์ด้วยการควบสองวิธีเข้าด้วยกัน คือ

  • การตรวจภูมิคุ้มกัน (antibody) ซึ่งต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาก่อนจึงจะตรวจพบเชื้อ
  • ECLIA เป็นการตรวจหาไวรัสตัวเป็น ๆ ซึ่งจะพบเชื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องรอระยะฟักตัว (window period) เพราะหากใช้เทคนิค ECLIA จะสามารถร่น ระยะ window period เหลือประมาณ 28 วันเท่านั้น

ซึ่งผลการตรวจ จะมี 3 แบบดังนี้
1. Non-reactive หรือ Negative แปลว่า ไม่มีการติดเชื้อ ผลเป็นลบ
2. Reactive หรือ Positive แปลว่า มีการติดเชื้อ ผลเป็นบวก
3. Invalid แปลว่า ไม่สามารถแปลผลได้ การตรวจไม่ถูกต้อง

หากผลตรวจออกมาเป็น Invalid ต้องมีการตรวจเลือดอีกครั้ง เพื่อหาผลที่ชัดเจน  และถ้าผลตรวจออกมาเป็น Non-reactive หรือ Negative อาจจะเป็นเพราะว่า ตรวจในช่วงระยะเวลา ที่ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวี ยังมีปริมาณไม่มากพอ คือ พึ่งเริ่มสร้างหรือยังไม่ทันสร้าง ซึ่งโอกาส ที่จะเป็นเช่นนี้ น้อยมาก 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้ข้อมูลกับแพทย์อย่างถูกต้อง เพราะแพทย์จะสอบถามระยะเวลา ที่ได้รับความเสี่ยง และเลือกวิธีการตรวจได้อย่างถูกต้องก่อนเข้ารับการตรวจเลือด

ตรวจเอชไอวีได้ปีละกี่ครั้ง

ปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถใช้สิทธิในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่ที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย

นอกจากนี้ยังสามารถขอรับบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี และคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการประจำตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการหรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้เช่นกัน หรือควรไปตรวจทุกครั้งที่มีความเสียงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่

Window period หมายถึงอะไร?
ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U)

Exit mobile version